วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2555

โรคไข้ทั้งหลาย...ที่ก่อให้เกิดอันตรายได้

  1.โรคหวัด

        โรคเยื่อจมูกและลำคออักเสบเฉียบพลัน (Acute nasopharyngitis / Common cold / Upper respiatory tract infection / URI) เรียกว่าโรคหวัด หรือไข้หวัด (Common cold) เป็นโรคติดต่อจากการติดเชื้อไวรัส  ในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ จมูกและคอ อาการของโรคประกอบด้วยการจาม อาการคัดจมูก เยื่อจมูกที่จะบวมและแดง และมีการหลั่งน้ำมูกมากกว่าปกติจนไหลออกทางจมูก  ถ้าเชื้อไวรัสติดเชื้อ  ไปที่จมูก แต่ถ้าติดเชื้อที่คอ จะมีอาการเจ็บคอ คอแหบแห้ง หรือมีเสมหะสะสมอยู่บริเวณลำคอ โดยการติดเชื้ออาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งสองบริเวณ นอกจากนี้ผู้เป็นโรคจะมีอาการไอ ปวดศีรษะ และเหนื่อยง่าย ไข้หวัดมักจะมีระยะโรคอยู่ประมาณ 3 5 วัน อาจร่วมด้วยอาการไอที่สามารถต่อเนื่องไปได้ถึง 3 สัปดาห์

        เมื่อมีอายุมากขึ้น ร่างกายจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อหวัดชนิดต่างๆ มากขึ้น ก็จะป่วยเป็นไข้หวัดห่างขึ้นและมีอาการรุนแรงน้อยลง โรคนี้สามารถติดต่อกันได้ง่ายดายการอยู่ใกล้ชิดกัน จึงพบมากในโรงเรียน โรงงาน และที่มีคนอยู่รวมกันมากๆ โอกาสที่เชื้อไวรัสจะแพร่ไปได้มีมากที่สุดคือระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง ซึ่งอาจเกิดได้จากความหนาแน่นของผู้คนในโรงเรียน และการที่เชื้อไวรัสจะมีประสิทธิภาพในการแพร่เชื้อไปยังสมาชิกในครอบครัวมาก เป็นพิเศษ
        โรคหวัดเป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปี มักจะพบมากในช่วงฤดูฝนฤดูหนาว หรือในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ส่วนฤดูร้อนจะน้อย
        เนื่องจากเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัด มีอยู่เกือบ 200 ชนิด ซึ่งผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำให้เกิดการอักเสบทางเดินหายใจส่วนต้น ครั้งละชนิด 
        โรคหวัดอยู่โรคประเภทติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน ในขณะเดียวกัน แม้ว่าโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) จะเป็นโรคประเภทเดียวกันโรคหวัด แต่ความรุนแรงของการติดเชื้อไวรัสนี้ รวมถึงอาการที่เพิ่มขึ้นได้แก่การที่เกิดไข้ขึ้นสูง และการปวดเมื่อยเนื้อตัวและกล้ามเนื้อนั้นรุนแรงกว่ามาก ในขณะที่โรคหวัดมีอัตราความเสี่ยงต่อชีวิตต่ำ แต่อาการแทรกซ้อนอย่างเช่นปอดบวมก็อาจทำให้เกิดการเสียชีวิตขึ้นได้



 

สาเหตุไข้หวัด และลักษณะของโรค

        เกิดจากเชื้อหวัด ซึ่งเป็นเชื้อไวรัส มีอยู่ร่วม 200 ชนิดด้วยกัน การเกิดโรคขึ้นในแต่ละครั้งจะเกิดจากเชื้อหวัดเพียงชนิดเดียว เมื่อเป็นแล้วคนเราก็จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อหวัดชนิดนั้น ในการเจ็บป่วยครั้งใหม่ก็จะเกิดจากเชื้อหวัดชนิดใหม่ หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ เชื้อหวัดมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอ หรือหายใจรดกัน นอกจากนี้ เชื้อหวัดยังอาจติดต่อได้โดยการสัมผัสมือ คือ เชื้อหวัดติดที่มือผู้ป่วยเมื่อสัมผัสถูกมือของคนอื่นเชื้อหวัดก็จะติดมือ ของคนๆ นั้น และเมื่อใช้นิ้วขยี้ตาหรือแคะจมูกก็จะเข้าสู่ร่างกายของคนๆ นั้นจนกลายเป็นไข้หวัดได้
        โรคหวัดอาจเกิดได้จากเชื้อไวรัสหลายชนิดด้วยกัน โดยส่วนใหญ่มักเป็นเชื้อไวรัสประเภทคอรีซา (Coryza viruses) ได้แก่ไรโนไวรัส (Rhinovirus) และโคโรนาไวรัส (Coronavirus) ที่พบมากที่สุด เชื้อไวรัสยังรวมไปถึงเอคโคไวรัส (Echovirus), อะดิโนไวรัส (Adenovirus), พาราไมโซไวรัส (Paramixovirus), คอกซ์แซกคีไวรัส (Coxsackievirus) รวมถึงไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัดอีกหลายร้อยประเภท จะทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณระบบทางเดินหายใจส่วนบน โดยไวรัสเหล่านี้สามารถกลายพันธุ์เพื่อดำรงชีวิตให้อยู่รอดในสภาพแวดล้อม ต่างๆ ได้ โดยที่บริเวณกล่องเสียง จะเป็นเป็นศูนย์รวมของเชื้อไวรัส โดยสาเหตุที่เชื้อไวรัสชอบไปสะสมตัวกันที่กล่องเสียงก็เนื่องมาจากอุณหภูมิ ของกล่องเสียงที่ต่ำกว่าบริเวณลำคอ และเป็นส่วนที่มีเซลล์ตัวกระตุ้นมาก ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ไวรัสชอบ

การติดต่อ

        โรคหวัดสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ผ่านทางละอองน้ำมูกและน้ำลายที่ มาจากการไอหรือจามของผู้ป่วย โดยละอองเหล่านี้สามารถทำให้คนเป็นหวัดได้ผ่านจากการสูดละอองเหล่านี้เข้าไป หรือผ่านการสัมผัสจากมือต่อมือกับผู้ป่วย และจากการสัมผัสวัตถุที่ผู้ป่วยเคยสัมผัสมาก่อน ซึ่งจะติดต่อผู้ที่ไม่เป็นโรคได้ผ่านทางส่วนตาและจมูก เมื่อมือที่เปื้อนเชื้ออยู่สัมผัสไปโดน
         ไวรัสนี้อาศัยการไอและจามของผู้ป่วยเป็นตัวแพร่กระจายเชื้อจากผู้ป่วยไปยังผู้อื่น ก่อนที่มันจะถูกระบบภูมิคุ้มกันของ ผู้ป่วยสกัดกั้นไว้ได้ โดยการจามจะขับไวรัสที่เกาะตัวกันอยู่หนาแน่นในละอองน้ำลายหรือน้ำมูก มากกว่าการไอ โดยละอองเหล่านี้ไม่สามารถมองเห็นได้ ยกเว้นที่ร่มที่แสงแดดส่องถึง และมีอัตราการตกสู่พื้นที่ช้ามาก ซึ่งกินเวลาเป็นชั่วโมงๆ กว่าที่ละอองจะตกถึงพื้น รวมถึงการแพร่กระจายของเชื้อเมื่อนิวเคลียสของ ละอองระเหย และทิ้งเชื้อที่เล็กกว่ามากและไม่สามารถมองเห็นได้เลย นั่นก็คือนิวเคลียสของละอองเองไว้ในอากาศ กลุ่มละอองน้ำลายหรือน้ำมูกจากการจามหรือไออย่างรุนแรง หรือจากการสัมผัสมือที่เปื้อนเชื้อ เชื้อไวรัสจะเกาะตัวแน่นบนพื้นผิวใดๆ ที่มันอยู่ได้เป็นชั่วโมงๆ ไวรัสเกาะติดอยู่ได้น้อยกว่าบนพื้นผิวที่มีรูโปร่งเช่นแผ่นไม้หรือกระดาษ ชำระ ซึ่งต่างจากวัตถุทึบตันเช่นราวเหล็กที่เชื้อสามารถเกาะติดได้นานกว่า โดยผู้ป่วยนั้นจะมีโอกาสเป็นพาหะได้มากที่สุดในช่วงสามวันแรกของการเป็นโรค แต่การติดต่อของโรคนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดจากผู้ที่แสดงอาการ เนื่องจากมีไวรัสที่ทำให้เกิดหวัดอยู่หลายชนิดเหมือนกัน ที่ไม่ก่อให้เกิดอาการ แต่ยังคงมีไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัดอยู่ได้ในน้ำมูก อาจเป็นเพราะว่าไวรัสมีจำนวนน้อยเกินไปกว่าที่ผู้ป่วยจะแสดงอาการได้




อาการของโรค

        ระยะฟักตัว ระยะตั้งแต่ผู้ป่วยรับเชื้อเข้าไปจนกระทั่งมีอาการเกิดขึ้น 1-3 วัน

        คนที่ได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดเข้าไปมีอัตราการเป็นโรคสูงถึง 95% มีเพียง 75% เท่านั้นที่แสดงอาการออกมา โดยการแสดงอาการจะเกิดขึ้น 1-2 วันหลังจากการติดเชื้อ ซึ่งโดยปกติแล้วอาการของโรคหวัดจะเริ่มต้นด้วยอาการเจ็บคอ และไม่มีอาการติดขัดใดๆ ในระบบทางเดินหายใจ หลังจากนั้น อาการจะเกิดขึ้นจากการสกัดกั้นเชื้อโรคของร่างกายได้แก่ อาการจาม น้ำมูกไหล และไอเพื่อขับเชื้อออกไป และการเกิดอาการอักเสบเพื่อกระตุ้นให้เซลล์ภูมิคุ้มกันทำงาน

        ผู้ป่วยอาจมีไข้ตัวร้อนเป็นพักๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดหนักศีรษะเล็กน้อย คัดจมูก น้ำมูกใส จาม คอแห้ง หรือเจ็บคอเล็กน้อย ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะเล็กน้อยลักษณะสีขาว บางครั้งอาจทำให้รู้สึกเจ็บแถวลิ้นปี่เวลาไอ ในผู้ใหญ่อาจไม่มีไข้ มีเพียงคัดจมูก น้ำมูกใส ในเด็กมักจับไข้ขึ้นมาทันที บางครั้งอาจมีไข้สูง และชักได้ มีอาการท้องเดินได้ หรือถ่ายเป็นมูกร่วมด้วย ถ้าเป็นเกิน 4 วัน หรือถ่ายเป็นมูกข้นเหลืองหรือเขียวหรือไอมีเสลดเป็นสีเหลืองหรือเขียว จากการอักเสบซ้ำของเชื้อแบคทีเรีย และอาจมีอาการอื่นๆ แทรกซ้อนตามมาซึ่งจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะร่วมกัน ตรวจพบไข้ น้ำมูก เยื่อจมูกบวมและแดง คอแดงเล็กน้อย ในเด็กอาจพบต่อมทอลซิลโต แต่ไม่แดงมากและไม่มีหนอง
         หลังจากผู้ป่วยหายจากโรคหวัดแล้ว ร่างกายของผู้ป่วยจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดชนิดที่ผู้ป่วย เพิ่งประสบมาโดยเฉพาะ เนื่องจากมีเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัดอยู่มากมาย ภูมิคุ้มกันนี้จึงให้การป้องกันที่จำกัด ดังนั้นคนที่หายจากโรคหวัดมา อาจเป็นได้อีก ถ้าติดเชื้อไวรัสไข้หวัดอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งจะทำให้กระบวนการและอาการทั้งหมดเริ่มขึ้นใหม่อีกครั้ง


โรคแทรกซ้อน

        โรคแทรกซ้อนอาจเกิดขึ้นได้ในขณะที่เป็นโรคหวัด เมื่อมีแบคทีเรียที่ปกติแล้วจะอยู่ในระบบทางเดินหายใจอาศัยโอกาสที่ระบบภูมิคุ้มกันกำลังอ่อนแอเข้าไปร่วมทำการแพร่เชื้อกับไวรัส

โรคแทรกซ้อนที่พบบ่อยเกิดจากการอักเสบแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรีย (bacteria) ทำให้นำมูกหรือเสลดเป็นสีเหลืองหรือเขียว ถ้าลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง อาจทำให้เป็นต่อมทอลซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ในเด็กเล็ก อาจทำให้มีอาการชักจากไข้สูง ท้องเดิน บางคนอาจมีเสียงแหบ เนื่องจากกล่องเสียงอักเสบ บางคนอาจมีอาการวิงเวียน เนื่องจากอวัยวะการทรงตัวภายในอักเสบ ดังที่เรียกว่า หวัดลงหูซึ่งจะหายได้เองภายใน 3-5 วัน โรคแทรกที่รุนแรงมักจะเกิดในผู้ป่วยที่ไม่ได้พักผ่อน ตรากตรำงานหนัก ร่างกายอ่อนแอ เช่น ขาดอาหาร ในทารกหรือผู้สูงอายุ


การป้องกันโรค

         วิธีที่ดีที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงเชื้อหวัดได้คือการหลีกเลี่ยงการใกล้ชิด กับผู้ป่วย และด้วยการล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าของตนเอง



การรักษา

         มีเพียงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเท่านั้นที่สามารถทำลายเชื้อโรคได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันนั้นจะใช้เวลาประมาณ 7 วันในบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งในการเป็นโรคหวัดหนึ่งครั้งจะมีอนุภาคไวรัสอยู่หลายล้านอนุภาคอยู่ใน ร่างกาย ซึ่งโดยปกติ เมื่อผ่านการติดเชื้อมาไม่กี่วัน ร่างกายก็จะเริ่มผลิตแอนติบอดี้ (Antibody) ที่สามารถป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดของเซลล์ออกมาเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกันกับเซลล์เม็ดเลือดขาวที่จะทำลายไวรัสผ่านการโอบเซลล์เอาไว้หรือวิธีการฟาโกไซโทซิส (Phagocytosis) ซึ่งจะทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อไปด้วยเพื่อป้องกันการแพร่ออกไปอีกของไวรัส และเนื่องจากกระบวนการการติดเชื้อของโรคจะกินเวลาจากแค่ไม่กี่วันถึงหนึ่ง สัปดาห์เท่านั้น แม้ว่าจะค้นพบวิธีการรักษาที่ถูกพิสูจน์แล้วก็ตามที ก็คงจะลดระยะเวลาการเป็นโรคหวัดเพียงแค่ไม่กี่วันเท่านั้น อย่างไรก็ตามที ยังมีวิธีการรักษาทั้งทางเวชกรรมที่อยู่ในขั้นทดลองและวิธีการเยียวยาโดยธรรมชาติอยู่หลายวิธี




 

2.ไข้สมองอักเสบ (Encephalitis)

          โรคไข้สมองอักเสบ เกิดจากได้เชื้อไวรัสหลายชนิด แต่ใน

ประเทศไทยมักพบจากเชื้อไวรัส Japanese encephalitis หรือเรียกว่า เจอี (JE) ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ การป่วยตาย อยู่ระหว่างร้อยละ 20-30 ผู้ป่วยส่วนใหญ่คือเด็ก อายุตั้งแต่ 5-10 ปี และพบโรคนี้ได้ในฤดูฝน ในประเทศไทยพบโรคนี้ในภาคเหนือมากกว่าภาคอื่น ๆ

          ผู้ติดเชื้อไข้สมองอักเสบ จะไม่แสดงอาการ โดยมีเพียง 1 ใน 300-500 คนเท่านั้นที่จะมีอาการ คือ เป็นไข้ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย ต่อไปอาการปวดศีรษะจะมากขึ้น อาเจียน ง่วงซึมจนไม่รู้สึกตัว บางรายอาจมีอาการเกร็งชักกระตุกด้วย อาจมีอาการหายใจไม่สม่ำเสมอ ในรายที่เป็นรุนแรงมากจะถึงแก่กรรมประมาณวันที่ 7-9 ของโรค ถ้าพ้นระยะนี้แล้วจะผ่านเข้าระยะฟื้นตัว ระยะเวลาของโรคทั้งหมดประมาณ 4-7 สัปดาห์ เมื่อหายแล้วประมาณร้อยละ 60 ของผู้ป่วยจะมีความพิการเหลืออยู่ เช่น อัมพาตแบบแข็งเกร็ง (spastic) ของแขนขา มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง มีสติปัญญาเสื่อม ปัจจุบัน โรคไข้สมองอักเสบ ยังรักษาไม่ได้ แต่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ห่างกัน 1 เดือน แล้วฉีดเพิ่มอีก 1 ครั้งหลังจากฉีดเข็มที่ 2 ได้ 1 ปี ควรจะเริ่มให้วัคซีนนี้เมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง พร้อมกับการให้ booster dose DTP และ OPV รวมทั้งหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัด อันเป็นพาหะของโรค







3.ไข้เหลือง (Yellow fever)

          ไข้เหลือง เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ในทวีปแอฟริกา และอเมริกา มาตั้งแต่ 400 ปีก่อน คำว่า "เหลือง" มาจากอาการตัวเหลืองหรือดีซ่าน (Jaundice) ที่มักพบในผู้ป่วย และยังมีอาการไข้สูงร่วมกับชีพจรเต้นช้าผิดปกติ ปวดกล้ามเนื้อร่วมกับปวดหลัง ปวดศีรษะ หนาวสั่น เบื่ออาหาร ระยะต่อมาจะมีเลือดออกจากปาก จมูก ตา กระเพาะอาหาร ทำให้อาเจียนและถ่ายเป็นเลือด จนถึงไตวาย  มีโปรตีนปัสสาวะ (albuminuria) และปัสสาวะไม่ออก (anuria) ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยระยะโลหิตเป็นพิษจะเสียชีวิตภายใน 10-14 วัน ที่เหลือจะหายเป็นปกติโดยอวัยวะต่าง ๆ ไม่ถูกทำลาย

          ไข้เหลือง มียุงลายเป็นพาหะของโรค และไม่มีการรักษาจำเพาะ เน้นการรักษาตามอาการ และฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค




 


4.ไข้รากสาดใหญ่ (Typhus)

          หรือไข้ไทฟัส (Typhus) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย กลุ่มริคเกตเซีย โดยมีแมลงปรสิตเป็นพาหะ โรคไข้รากสาดใหญ่ มี 3 ชนิดคือ

          1.ไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาด มักระบาดหลังสงครามหรือภัยพิบัติ จะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง มีผื่นตามลำตัว แขนขา ปวดกล้ามเนื้อ ความดันโลหิตตก ซึม ไวต่อแสงและเพ้อ ไข้สูง สามารถรักษาได้โดยให้ยาปฏิชีวนะ

          2.ไข้รากสาดใหญ่ประจำถิ่น ติดต่อผ่านทางหมัดที่กัดหนู อาการปวดศีรษะ เป็นไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน รักษาให้หายได้ แต่ในผู้สูงอายุ หรือผู้มีภูมิคุ้มกันอาจเสียชีวิตได้

          3.ไข้รากสาดใหญ่จากป่าละเมาะ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีไรอ่อนซึ่งพบมากตามป่าละเมาะเป็นพาหะ ภาษาญี่ปุ่นเรียก โรคสึสึกามูชิ




 

5.โรคไข้เลือดออก

     ไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากยุง ซึ่งเป็นพาหะของโรค      ไข้เลือดออก และก่อให้เกิดความกังวลต่อผู้ปกครองเวลาเด็กมีไข้ และมักพบบ่อยในเด็กต่ำกว่า 15 ปี โดยเฉพาะช่วงอายุ 2-8 ปี  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ใหญ่จะไม่มีโอกาสเป็นโรค ไข้เลือดออก ได้ โดยเฉพาะต้องอาศัยอยู่ในแหล่งที่ชุกชุมไปด้วยยุงตัวร้าย

อาการของไข้เลือดออก

          อาการของ ไข้เลือดออก ไม่จำเพาะอาการมีได้หลายอย่าง ในเด็กอาจจะมีเพียงอาการไข้และผื่น ในผู้ใหญ่ที่เป็น ไข้เลือดออก อาจจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดตามตัว ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ หากไม่คิดว่าเป็น โรคไข้เลือดออก อาจจะทำให้การรักษาช้า ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิต



 

ลักษณะที่สำคัญของ ไข้เลือดออก มีอาการสำคัญ 4 ประการคือ


         1. ไข้สูงลอย  ไข้ 39-40, มักมีหน้าแดง, โดยมักไม่ค่อยมีอาการน้ำมูกไหลหรือไอเด็กโตอาจมีอาการ ปวดเมื่อยตามตัว และปวดศีรษะ อาการไข้สูงมักมีระยะ 4-5 วัน

         2. อาการเลือดออก  เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกในกระเพาะ  โดยจะมีอาการ
อาเจียนเป็นเลือด หรือ ถ่ายดำ จุดเลือดออกตามตัว

         3. ตับโต

         4. ความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด หรือช็อค  มักจะเกิดช่วงไข้จะลดโดย ผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่ายมือเท้าเย็น รอบปากเขียว อาจมีอาการปวดท้องมาก  ก่อนจะมีอาการช็อค ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำ

 

การรักษาโรคไข้เลือดออก

          

 โรคไข้เลือดออก ไม่มีการรักษาเฉพาะ การรักษาเป็นเพียงการประคับประคองอย่างใกล้ชิดโดยการเฝ้าระวังภาวะช็อค และเลือดออก และการให้สารน้ำอย่างเหมาะสมก็จะทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง โดยทั่วไป การดูแลผู้ป่วยโรค ไข้เลือดออก มีแนวทางการดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนี้

         1. ให้ยาลดไข้ เช็ดตัวลดไข้ ยาลดไข้ที่ควรใช้คือ Paracetamol ไม่ควรใช้ยาจำพวกแอสไพริน เนื่องจากจะทำให้เกร็ดเลือดผิดปกติ และระคายกระเพาะอาหาร

         2. ให้สารน้ำชดเชย เนื่องจากผู้ป่วย ไข้เลือดออก มักมีภาวะขาดน้ำ เนื่องจากไข้สูง เบื่ออาหาร  และอาเจียน ในรายที่พอทานได้ให้ดื่มน้ำเกลือแร่บ่อยๆ ในรายที่ขาดน้ำมาก หรือ  มีภาวะเลือดออก  เช่น อาเจียน หรือ ถ่ายเป็นเลือดต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้สารน้ำทางเส้นเลือด

         3. ติดตามดูอาการใกล้ชิด ถ้าผู้ป่วย ไข้เลือดออก มีอาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง กระสับกระส่าย  มือเท้าเย็น โดยเฉพาะในช่วงไข้ลด ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

         4. ตรวจนับจำนวนเกร็ดเลือดและความเข้มข้นของเลือดเป็นระยะเพื่อใช้พิจารณาปริมาณการให้สารน้ำชดเชย


 

การควบคุมสิ่งแวดล้อม Environmental management

การควบคุมสิ่งแวดล้อมเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ยุงมีการขยายพันธุ์


         1.แทงค์ บ่อ กะละมัง ที่เก็บกักน้ำจะเป็นแหล่งที่ยุงออกไข่และกลายเป็นยุง ต้องมีฝาปิดและหมั่นตรวจสอบว่ามีลูกน้ำหรือไม่

         2.ให้ตรวจรอยรั่วของท่อน้ำ แทงค์น้ำหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับน้ำว่ารั่วหรือไม่ โดยเฉพาะฤดูฝน

         3.ตรวจสอบแจกัน ถ้วยรองขาโต๊ะ ต้องเปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์ สำหรับแจกันอาจจะใส่ทรายผสมลงไป ส่วยถ้วยรองขาโต๊ะให้ใส่เกลือเพื่อป้องกันลูกน้ำ

         4.หมั่นตรวจสอบถาดรองน้ำที่ตู้เย็นหรือเครื่องปรับอากาศเพราะเป็นที่แพร่พันธ์ของยุง โดยเฉพาะถาดระบายน้ำของเครื่องปรับอากาศซึ่งออกแบบไม่ดี โดยรูระบายน้ำอยู่เหนือก้นถาดหลายเซนติเมตร ทำให้มีน้ำขังซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุง

         5.ตรวจรอบๆ บ้านว่าแหล่งน้ำขังหรือไม่ ท่อระบายน้ำบนบนหลังคามีแองขังน้ำหรือไม่หากมีต้องจัดการ

         6.ขวดน้ำ กระป๋อง หรือภาชนะอื่นที่อาจจะเก็บขังน้ำ หากไม่ใช้ให้ใส่ถุงหรือฝังดินเพื่อไม่ให้น้ำขัง

         7.ยางเก่าที่ไม่ใช้ก็เป็นแหล่งขังน้ำได้เช่นกัน

         8.หากใครมีรั้วไม้ หรือต้นไม้ที่มีรูกลวง ให้นำคอนกรีตเทใส่ปิดรู ต้นไผ่ต้องตัดตรงข้อและให้เทคอนกรีตปิดแอ่งน้ำ

 


ที่มา :


http://th.wikipedia.org/wiki/โรคหวัด
http://dpc1.ddc.moph.go.th/contagious/PR/mask.htm
http://203.185.128.100/cyber/disinfo/follow/sars/0424_4.htm
http://tb.biotec.or.th/Thai/Mask_Project.htm 
http://health.kapook.com/view8103.html 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น